• หน้าแรก
  • สาระน่ารู้
  • ทำความรู้จัก กระจก แต่ละชนิดก่อนสร้างบ้านกัน เพื่อความปลอดภัยผู้พักอาศัยกันเถอะ
ทำความรู้จัก กระจก แต่ละชนิดก่อนสร้างบ้านกัน เพื่อความปลอดภัยผู้พักอาศัยกันเถอะ

ทำความรู้จัก กระจก แต่ละชนิดก่อนสร้างบ้านกัน เพื่อความปลอดภัยผู้พักอาศัยกันเถอะ

09 ม.ค. 2565   ผู้เข้าชม 167

กระจก เป็นหนึ่งในวัสดุที่คนนิยมนำมาใช้ในการตกแต่งบ้าน เพราะกระจกช่วยให้ภายในบ้านดูโล่งโปร่ง และยังช่วยทำให้บ้านดูกว้างขึ้นสำหรับบ้านที่มีพื้นที่ภายในแคบ นิยมใช้กระจกกั้นเพื่อแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายใน แทนการก่อผนัง การติดกระจกที่เหมาะสมกับบ้าน ไม่เพียงแต่จะช่วยประดับตกแต่งบ้านให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้นแล้ว กระจกยังช่วยลดอุณหภูมิความร้อนจากแสงแดดที่ส่องเข้าสู่ตัวบ้าน ดังนั้นการเลือกติดกระจกบ้านให้เหมาะสม นอกจากดีไซน์และความสวยงามแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความแข็งแรงทนทาน คุณสมบัติ และความปลอดภัยของกระจกอีกด้วย 

เพราะปัจจุบันกระจกติดบ้านได้ถูกผลิตขึ้นมาหลากหลายชนิด ซึ่งกระจกแต่ละชนิดต่างก็มีคุณสมบัติ ข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน บทความนี้ ปัญญาฤทธิ์โฮม จะพาทุกคนไปรู้จักกระจกติดบ้านแต่ละชนิดว่ามีอะไรบ้าง มีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างไร และได้รวบรวมชนิดของกระจก ที่ได้รับความนิยมในการนำมาติดตั้งกับบ้าน มาให้ทุกคนได้ศึกษา เพื่อนำไปตัดสินใจเลือกใช้กันได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับบ้านของคุณ 

เลือกกระจกติดบ้านอย่างไร ให้สวยและปลอดภัย

กระจกแต่ละประเภทถูกผลิตขึ้นมาจากวัสดุและกรรมวิธีการผลิตที่ต่างกัน คุณสมบัติที่โดดเด่นของกระจกเหล่านี้ หากนำมาใช้ให้ถูกประเภทและเหมาะสมกับพื้นที่การใช้งาน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด กลับกันหากเลือกใช้ผิดประเภท บางครั้งอาจแฝงไปด้วยอันตรายที่เกิดจากตัวกระจกเอง โดยกระจกที่เราจะมาแนะนำในวันนี้มีอยู่ 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

กระจกโฟลต (Float Glass) 

ถูกผลิตขึ้นจากน้ำกระจก ที่มีส่วนผสมของซิลิกาและสารประกอบต่าง ๆ หลอมเป็นของเหลว และไหลลอยอยู่บนดีบุกหลอม ภายใต้อุณหภูมิและความดันที่เหมาะสม จากนั้นจึงปล่อยให้เซตตัว ทำให้ผิวกระจกมีความเรียบเนียน ไม่เป็นลอนคลื่น โปร่งแสงสูง มองผ่านได้ชัดเจน

แบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่ กระจกโฟลตใส และ กระจกโฟลตสีตัดแสง

  • กระจกโฟลตใส (Clear Float Glass) 

มีรอยต่อระหว่างกระจกน้อย โปร่งแสง  ตัวกระจกอมความร้อนไว้ได้น้อย ทำให้ความร้อนสามารถผ่านได้ดี จึงไม่เหมาะกับการใช้งานสำหรับผนังบ้าน หรืออาคารที่ต้องการความเป็นส่วนตัว 

เหมาะสำหรับ การจัดแสดงสินค้า หรือใช้กับตู้ดิสเพลย์

  • กระจกโฟลตสีตัดแสง (Tinted Float Glass)

เป็นกระจกโฟลตใสที่เติมสารโลหะเข้าไปในเนื้อกระจก ทำให้มีสีที่ต่างกันเช่น สีชา สีฟ้า สีเขียว เป็นต้น ช่วยตัดแสงและดูดกลืนความร้อนที่จะผ่านเข้าไปยังตัวบ้านได้ดี เป็นที่นิยมมากสำหรับการใช้งานภายนอก เพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้านและการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ข้อควรระวัง คือ กระจกโฟลตสีตัดแสงจะอมความร้อนมากกว่ากระจกใส ทำให้เสี่ยงต่อการแตกร้าว และมักจะแตกเป็นลักษณะปากฉลาม มีความแหลมคม อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass) 

กระจกที่ผ่านกระบวนการผลิตโดยการอบความร้อนอุณหภูมิสูง และใช้ลมเย็นเป่าให้เย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวกระจกมีความแข็งแรงทนทานสูงเป็นพิเศษ สามารถรับแรงกดและรับน้ำหนักได้ดี รวมถึงทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างกะทันหัน เหมาะกับใช้เป็นผนังกระจกกั้นห้องน้ำ ประตูกระจก หรือพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการแตกร้าว ในกรณีที่กระจกเทมเปอร์เกิดการแตกร้าว ลักษณะการแตกจะไม่เป็นปากฉลาม แต่จะแตกเป็นลักษณะคล้ายเม็ดข้าวโพด ความแหลมคมไม่มากและอันตรายน้อยกว่ากระจกธรรมดา จึงปลอดภัยมากกว่า ข้อเสีย คือ ไม่สามารถเจาะรู ตัด เจียกระจกได้ เพราะจะทำลายเนื้อกระจก การติดตั้งกระจกเทมเปอร์ จึงควรวัดขนาดกระจกกับพื้นที่ที่ต้องการใช้งานอย่างแม่นยำก่อนนำไปติดตั้ง

กระจกฉนวนกันความร้อน (Insulated Glass)

กระจกฉนวนกันความร้อน เป็นการนำกระจก 2 แผ่นขึ้นไป ชนิดใดก็ได้มาประกบกัน คั่นกลางด้วยอลูมิเนียมและสารดูดความชื้น ผลิตขึ้นเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่ทนทานต่อความร้อนและประหยัดพลังงาน สามารถลดความร้อนและลดเสียงรบกวนจากภายนอก ที่จะเข้าสู่ตัวอาคารได้ดีกว่ากระจกธรรมดา ข้อเสีย คือ มีน้ำหนักค่อนข้างมาก นิยมใช้สำหรับอาคารพิเศษที่ต้องควบคุมอุณหภูมิตลอดเวลา เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องเก็บไวน์ เป็นต้น 

กระจกลามิเนต (Laminated Glass) 

ผลิตขึ้นโดยนำกระจก 2 แผ่นขึ้นไป ชนิดใดก็ได้มาประกบกัน และยึดติดด้วยฟิล์ม PVB (Poly Vinyl Butyral) เพื่อให้ได้ความแข็งแรงและปลอดภัยเป็นพิเศษ ทนต่อแรงดันและแรงอัดกระแทกสูง รวมถึงทนต่อความร้อนและเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา มีความปลอดภัยสูง เพราะกระจกลามิเนตเมื่อแตกแล้ว เศษกระจกจะไม่ร่วงหล่นลงมาจากกรอบ จึงนิยมใช้สำหรับติดตั้งภายนอกอาคารสูง ๆ หรือใช้สำหรับทำราวระเบียงกันตก ในกรณีที่เกิดการแตกร้าวจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนที่สัญจรอยู่ด้านล่างอาคาร รวมถึงทำเป็นกระจกนิรภัยป้องกันการโจรกรรม ข้อเสีย คือ ไม่สามารถติดตั้งในที่ที่มีความชื้นสูงได้ เพราะฟิล์ม PVB ดูดความชื้น จะทำให้ประสิทธิภาพการยึดเกาะระหว่างกระจกและฟิล์มลดลง

นี่คือคุณสมบัติของกระจกแต่ละชนิดที่เรานำมาฝากทุกคนในวันนี้ มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย แตกต่างกันไป จึงควรเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับบ้านของเรา หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม “ปัญญาฤทธิ์โฮม บริษัทรับสร้างบ้านเชียงใหม่” เรายินดีให้บริการรับสร้างบ้านอย่างครบวงจร โดยทีมงานมืออาชีพที่มากประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ปี ที่พร้อมบริการสร้างบ้านให้แก่คุณ ปัญญาฤทธิ์โฮมบริษัทรับสร้างบ้านเชียงใหม่ มีเขตพื้นที่ให้บริการดังนี้ รับสร้างบ้านเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา


สาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

7 เหตุผล! ทำไม สร้างบ้านหรู กับบริษัทรับสร้างบ้าน
25 ต.ค. 2565

7 เหตุผล! ทำไม สร้างบ้านหรู กับบริษัทรับสร้างบ้าน

รอบรู้เรื่องบ้าน
รู้ก่อนสร้าง! 6 ลักษณะ ที่ดินต้องห้าม ที่ไม่ควรใช้ก่อสร้างบ้าน โดยเด็ดขาด!
27 ต.ค. 2565

รู้ก่อนสร้าง! 6 ลักษณะ ที่ดินต้องห้าม ที่ไม่ควรใช้ก่อสร้างบ้าน โดยเด็ดขาด!

รอบรู้เรื่องบ้าน
สร้างบ้านมานานแก้ปัญหา "บ้านร้อน" ไม่ได้สักที ปัญญาฤทธิ์โฮมช่วยคุณได้
15 ม.ค. 2565

สร้างบ้านมานานแก้ปัญหา "บ้านร้อน" ไม่ได้สักที ปัญญาฤทธิ์โฮมช่วยคุณได้

รอบรู้เรื่องบ้าน